อุปกรณ์หลักที่ช่วยในการทอผ้านี้เรียกว่า “กี่มือ” ซึ่งเป็นกี่ทอผ้าขนาดเล็ก พกพาได้ง่าย แต่ยังคงสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ชิ้นงานได้โดยใช้หลักการทอผ้าแบบดั้งเดิม ซึ่งธนาคารยูโอบีได้คัดเลือกเส้นไหมที่มีผิวสัมผัสที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสัมผัสและสร้างสรรค์งานศิลป์ได้ตามจินตนาการ ชิ้นงานที่ได้ก็สวยงามและดูหลากหลาย สามารถนำไปดัดแปลงเพื่อประกอบหรือตกแต่งของใช้อื่นๆ เช่น กระเป๋า ที่รองแก้ว ได้อีกด้วย
รศ. ดร. ทักษิณา พิพิธกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเพื่อผู้พิการทางสายตา ผู้ออกแบบหลักสูตรและวิทยากรหลักในการให้ความรู้ด้านทฤษฎีทางศิลปะมองว่า ผู้พิการทางสายตามีศักยภาพเหมือนคนทั่วไป ในสังคมจะเห็นว่ามีผู้พิการทางสายตาประสบความสำเร็จมากมาย จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าคนที่มองไม่เห็นไม่ใช่มีความสามารถน้อยกว่าคนที่มองเห็น แต่อยู่ที่ว่าเขาเข้าถึงองค์ความรู้ได้แค่ไหน เพราะหากมีโอกาสก็สามารถพัฒนาตัวเองไปได้ไกล
“เราควรให้ความรู้ไปถึงเขา เหมือนกับเรา ถ้าอ่านภาษาไทยออกก็จะมีความรู้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเข้าใจภาษาอังกฤษเพิ่มด้วยก็จะมีความรู้มากกว่าคนที่อ่านออกเฉพาะภาษาไทย คนพิการก็เช่นกัน โครงการนี้เน้นให้ความรู้ด้านศิลปะแก่ผู้พิการทางสายตา เพื่อให้เขามีโอกาสเข้าถึงงานศิลปะ ถ้าผู้พิการทางสายตาเข้าถึงความรู้ตรงนี้ได้ เราก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีข้อจำกัดเหมือนกันได้”