สำหรับผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในทุก ๆ ปี แต่ยังไม่เคยศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับค่าลดหย่อนภาษีต่าง ๆ รวมถึงยังไม่เคยวางแผนภาษีเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเต็มที่ บทความนี้เรามีข้อมูลดี ๆ ที่จะช่วยให้คุณลดภาระภาษีในแต่ละปีให้น้อยลงได้มาฝาก
การวางแผนภาษีคืออะไร
การวางแผนภาษี คือ กระบวนการวางแผนทางการเงินซึ่งมุ่งเน้นไปที่การลดภาษีที่ต้องจ่าย ด้วยการอาศัยความรู้เกี่ยวกับค่าลดหย่อนภาษี รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การวางแผนภาษีที่ดีจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ซึ่งอาจทำให้เรามีเงินเก็บมากขึ้น หรือสามารถนำเงินส่วนที่เหลือไปใช้ประโยชน์ในการลงทุนด้านอื่น ๆ ได้มากขึ้นด้วย
รู้จักรายการค่าลดหย่อนภาษี เพื่อการวางแผนภาษีที่เหมาะสม
ค่าลดหย่อนภาษีเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการคำนวณภาษีที่กฎหมายกำหนดให้สามารถนำไปหักออกจากเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วได้อีก โดยรายการหักลดหย่อนและยกเว้นภาษีต่าง ๆ มีรายละเอียด ดังนี้
ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว เป็นค่าลดหย่อนพื้นฐานที่ผู้มีเงินได้ทุกคนมีสิทธิได้รับ 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส สำหรับผู้ที่คู่สมรสไม่มีเงินรายได้ มีสิทธิลดหย่อน 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร สำหรับผู้หญิงที่มีครรภ์และผู้คลอดบุตร มีสิทธิลดหย่อน 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนภาษีบุตร สำหรับผู้มีเงินได้ที่มีบุตรยังเรียนอยู่ และอายุไม่เกิน 25 ปี มีสิทธิในการลดหย่อนภาษี ดังนี้
- ลูกเกิดก่อนปี พ.ศ. 2561 ลดหย่อนแบบเหมาคนละ 30,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นลูกคนที่เท่าไรก็ตาม
- ลูกเกิดในปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
- ในกรณีที่ลูกคนแรก เกิดก่อนปี พ.ศ. 2561 แต่ลูกคนต่อ ๆ มาเกิดหลังปี พ.ศ. 2561 สามารถลดหย่อนในส่วนของลูกคนแรกได้ 30,000 บาท และคนต่อไปได้ 60,000 บาท
ทั้งนี้ ค่าลดหย่อนภาษีบุตรสามารถใช้ได้ทั้งพ่อและแม่ หรือก็คือลดหย่อนได้ 2 สิทธิต่อบุตร 1 คน
- ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส ที่มีอายุเกิน 60 ปี และไม่มีเงินรายได้ มีสิทธิลดหย่อน คนละ 30,000 บาท
- ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ มีสิทธิลดหย่อน คนละ 60,000 บาท
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
- เงินประกันสังคม เป็นเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม ไม่เกิน 9,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ของผู้มีเงินได้เท่าที่จ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ของคู่สมรสที่ไม่มีเงินรายได้ เท่าที่จ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ของผู้มีเงินได้เท่าที่จ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ของบิดา มารดา คู่สมรส ที่ไม่มีรายได้ เท่าที่จ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ได้ตามจริงสูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้ แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท
- เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินรายได้ แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) /กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินรายได้พึงประเมิน แต่ถ้ารวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท และถ้ารวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนแล้ว
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ ได้เป็น 2 เท่าของจำนวนเงินที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคให้แก่พรรคการเมือง ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
วิธีการคำนวณภาษี
การคำนวณภาษี เป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทุกปี เนื่องจากเป็นวิธีที่จะช่วยให้สามารถวางแผนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง ไม่ต้องเสียภาษีมากจนเกินไป รวมถึงไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มหรือเสียเบี้ยปรับโดยใช่เหตุด้วย
ตารางอัตราภาษี
สิ่งสำคัญประการแรกในการคำนวณภาษี คือ เราต้องรู้อัตราภาษีที่ตนเองจะต้องเสียต่อปีเสียก่อน โดยรายละเอียดอัตราภาษีอิงตามเงินได้สุทธิมีดังต่อไปนี้
เงินได้สุทธิ |
อัตราภาษี |
เสียภาษีสูงสุด |
0 - 150,000 บาท |
ยกเว้นภาษี |
- |
150,001 - 300,000 บาท |
5% |
7,500 |
300,001 - 500,000 บาท |
10% |
20,000 |
500,001 - 750,000 บาท |
15% |
37,500 |
750,001 - 1,000,000 บาท |
20% |
50,000 |
1,000,001 - 2,000,000 บาท |
25% |
250,000 |
2,000,001 - 5,000,000 บาท |
30% |
900,000 |
5,000,001 บาทขึ้นไป |
35% |
- |
สูตรคำนวณภาษี
เมื่อทราบค่าลดหย่อนภาษีและอัตราภาษีที่ตนเองจะต้องจ่ายแล้ว ก็สามารถคำนวณภาษีตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ได้เลย
- หาเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย โดยใช้สูตร
เงินได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 50 ของเงินรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย
- หาเงินได้สุทธิ โดยใช้สูตร
เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
- นำเงินได้สุทธิไปคำนวณตามอัตราภาษีแบบขั้นบันได โดยใช้สูตร
ภาษีที่ต้องจ่าย = (เงินได้สุทธิ - เงินได้สุทธิสูงสุดของขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี + ภาษีสะสมสูงสุดของขั้นก่อนหน้า
ตัวอย่างการคำนวณภาษี
นายดีมีรายได้ทั้งปีจำนวน 612,000 บาท และมีค่าลดหย่อนต่าง ๆ คือ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ค่าเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 9,000 บาท ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ 21,000 บาท จะคำนวณภาษีได้ดังต่อไปนี้
- เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย
612,000 - 100,000 = 512,000 บาท
- เงินรายได้สุทธิ
512,000 - 60,000 - 9,000 - 21,000 = 422,000
- ภาษีที่ต้องจ่าย
(422,000 - 300,000) X 10% + 7,500 = 19,700 บาท
จะเห็นได้ว่า หากนายดีต้องการประหยัดค่าภาษีให้มากขึ้น ก็สามารถใช้วิธีลดหย่อนภาษีด้วยการเพิ่มรายการค่าลดหย่อนต่าง ๆ ให้มากขึ้น เช่น การซื้อประกันชีวิต และการซื้อกองทุนต่าง ๆ เพิ่มเติม เป็นต้น
ขอแนะนำกองทุน Thai ESG จาก UOB Asset Management
สำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนภาษีและเพิ่มรายการหักลดหย่อนเพื่อบรรเทาภาระภาษี ขอแนะนำกองทุน Thai ESG เงื่อนไขใหม่ จาก UOB Asset Management
- ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ในไทยที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (ESG)
- เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุด 300,000 บาท (ไม่เกิน 30% ของเงินได้)
- ลดเวลาถือครองเหลือ 5 ปี (นับจากวันที่ลงทุน)
- ไม่บังคับลงทุนทุกปี ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ
คำเตือน ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยงและข้อมูลสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน / ไม่ใช่เป็นการฝากเงินกับธนาคาร / การลงทุนมีความเสี่ยง รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะสูญเสียเงินลงทุน ราคาของหน่วยลงทุนอาจขึ้นหรือลงได้ / ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต
หากสนใจ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กองทุนรวม Thai ESG ได้ที่เว็บไซต์ของเรา
ข้อมูลอ้างอิง
- เทคนิควางแผนภาษี ให้มีเงินเหลือเก็บ. สืบค้นวันที่ 15 สิงหาคม 2567 จาก
https://www.setinvestnow.com/th/financialplanning/tax-planning-tips
- ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?. สืบค้นวันที่ 15 สิงหาคม 2567 จาก
https://www.rd.go.th/fileadmin/download/tax_deductions_update30072567.pdf