“65% ของประชากร Gen-Y และมิลเลนเนี่ยล ถ้าเลือกได้พวกเขาอยากเลือกซื้อสินค้ากับแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์โลก สิ่งแวดล้อม รวมถึงความยั่งยืน”
ส่วนหนึ่งจากบทความวิจัยหัวข้อ “The Elusive Green Consumer” ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Harvard Business Review ที่แสดงข้างต้นแสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น ซึ่งค่านิยมใหม่นี้ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงความพึงพอใจที่คนรุ่นใหม่มีต่อแบรนด์สินค้าต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญ สำหรับผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจที่เคยได้ยินข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ ESG มาบ้างแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่า ESG คืออะไร และเราจะสามารถสร้างธุรกิจที่มีความยั่งยืนตามแนวคิด Sustainable Business เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ ๆ ได้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบ
แนวคิด ESG คืออะไร
ESG คือ แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงปัจจัย 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Sustainability)
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานสะอาด การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ
ด้านสังคม (Social) ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และชุมชนโดยรอบ โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม สวัสดิภาพ ความปลอดภัย ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
ด้านธรรมาภิบาล (Governance) ธุรกิจต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีจริยธรรมในการดำเนินงาน รวมถึงมีระบบการบริหารความเสี่ยง การต่อต้านคอร์รัปชัน และการเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือสู่การเป็น Sustainable Business
การสร้าง Sustainable Business ส่งผลดีกับธุรกิจอย่างไร
ประหยัดต้นทุน การดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business) จะช่วยประหยัดต้นทุนในระยะยาว เช่น ลดการใช้พลังงาน น้ำ และวัตถุดิบ การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ หรือการลดของเสีย ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อีกด้วย
บริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินธุรกิจภายใต้ความยั่งยืนจะช่วยให้ธุรกิจสามารถวิเคราะห์ ประเมิน และบริหารจัดการความเสี่ยงใหม่ โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ แต่ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของแบรนด์ การสื่อสารนโยบายและความมุ่งมั่นในการลงมือดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) นอกจากจะช่วยสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์แล้ว ยังช่วยสร้างความภักดีที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ในระยะยาวได้เช่นกัน
ความคาดหวังของนักลงทุน ในปัจจุบันนักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG มากขึ้น และมองหาบริษัทที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อทำการลงทุน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำและมีโอกาสเติบโตในระยะยาวได้มากกว่า
ความรับผิดชอบต่อสังคมโลก การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business) แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยสร้างผลกำไรที่เป็นตัวเงิน แต่การลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยรักษาโลกไว้ให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต
ต้องการสร้าง Sustainable Business ต้องเริ่มต้นอย่างไร
วิเคราะห์บริบทขององค์กร วิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย กำหนดประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ในขั้นตอนแรก คือ การวิเคราะห์บริบทต่าง ๆ ขององค์กร ได้แก่ วิสัยทัศน์ พันธกิจ วัฒนธรรมองค์กร กลยุทธ์ของธุรกิจ ห่วงโซ่อุปทาน ความเสี่ยงและโอกาส ทิศทางและแนวโน้มของอุตสาหรรม รวมถึงการระบุและวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย การกำหนดวิธีการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนการกำหนดและจัดลำดับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาและวางแผนแนวทางการบริหารจัดการสำหรับแต่ละประเด็นอย่างเหมาะสมต่อไป
กำหนดนโยบายด้านความยั่งยืนขององค์กร และกำหนดผู้รับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน เมื่อได้วิเคราะห์บริบทและกำหนดประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กรแล้ว ในขั้นตอนต่อมา คือ การกำหนดนโยบายและเป้าหมายในการบริหารจัดการความยั่งยืนในระดับองค์กร รวมถึงการกำหนดผู้รับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนในการดำเนินการตามประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนในแต่ละประเด็น และประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายรับทราบเพื่อสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในองค์กร
กำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร ในขั้นตอนถัดไป คือ การกำหนดกรอบการดำเนินงานหรือกลยุทธ์ธุรกิจ และแผนปฏิบัติการหรือแผนงานด้านทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวที่สอดคล้องกับนโยบาย เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ได้กำหนดไว้ โดยกลยุทธ์ที่กำหนดไว้นั้นควรมีความเชื่อมโยงกับความสามารถในการสร้างความมั่นคงทางการเงินของธุรกิจ ในขณะที่แผนงานควรจะต้องมีเงื่อนเวลา แนวทางการดำเนินงาน และตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถประเมินผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลงมือปฏิบัติ ติดตาม และ ประเมินผล เมื่อได้กำหนดผู้รับผิดชอบและแผนปฏิบัติการหรือแผนงานที่ชัดเจนแล้ว ก็สามารถเริ่มดำเนินการตามแผนงานได้เลย ทั้งนี้ควรมีการเฝ้าติดตามการดำเนินงาน รวมถึงตรวจสอบผลการดำเนินงานอยู่เป็นระยะด้วยเพื่อให้สามารถปรับแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและรักษาคุณภาพของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องด้วย
สื่อสารและรายงานความคืบหน้ า หลังจากที่เริ่มดำเนินการตามแผนงานแล้ว ธุรกิจควรจะต้องรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างเป็นระบบเพื่อใช้ในการติดตามและประเมินผลงานตามตัวชี้วัด พัฒนาผลการดำเนินงาน และเชื่อมโยงข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเข้ากับตัวชี้วัดด้านความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจตลอดจนนำข้อมูลผลการดำเนินงานทั้งในด้านความสำเร็จและความล้มเหลวของแผนงานไปเปิดเผยและสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ทั้งพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า นักลงทุน และสาธารณชนรับทราบ เพื่อสร้างความเข้าใจและการรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานที่โปร่งใสขององค์กร ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างคุณค่าหรือมูลค่าให้กับธุรกิจในอนาคตได้
ทบทวนและพัฒนาผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจควรนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินผลการดำเนินงานมาวิเคราะห์เพื่อระบุประเด็นที่ธุรกิจสามารถทำได้ดี และประเด็นที่ควรนำไปปรับปรุงแก้ไข รวมถึงควรวางแผนเพื่อพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนควรทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ขอบเขตเนื้อหาและข้อมูลด้านความยั่งยืนที่จะเปิดเผยให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียอยู่เสมอด้วย
การดำเนินการสู่ธุรกิจยั่งยืน (Sustainable Business) แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้หากมีการวางแผนและการเตรียมความพร้อมที่ดี การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตและความสามารถในการสร้างผลกำไรในระยะยาวด้วย
ขอแนะนำ UOB Sustainability Compass ตัวช่วยนำพาธุรกิจสู่ความยั่งยืน
ธนาคารยูโอบี ในฐานะธนาคารชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย เราเชื่อเสมอว่าเรามีหน้าที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและภูมิภาคในระยะยาว การเปิดตัว UOB Sustainability Compass ในปี 2024 แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธนาคารที่พร้อมสนับสนุนลูกค้าในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจที่สนใจและกำลังต้องการเปลี่ยนผ่านองค์กรเข้าสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวคิด ESG สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ แนวทางด้านความยั่งยืนของธนาคารยูโอบี และสามารถทำแบบประเมินออนไลน์ UOB Sustainability Compass เพื่อประเมินระดับความพร้อมของธุรกิจของคุณในการดำเนินการเพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน ได้จากเว็บไซต์ของเราที่นี่
ข้อมูลอ้างอิง
The Elusive Green Consumer. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 จาก https://hbr.org/2019/07/the-elusive-green-consumer
Environmental, Social And Governance: What Is ESG Investing?. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 จาก https://www.forbes.com/advisor/investing/esg-investing/
STEP 4 มุ่งสู่ธุรกิจยั่งยืน. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 จาก https://setsustainability.com/libraries/1045/item/sustainable-business-development-roadmap-step-4
Sustainability Management Process. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 จาก https://setsustainability.com/page/sustainability-management-process